บริการสืบค้น

Custom Search

PostHeaderIcon สวนเสรีไทย

สร้างขึ้นตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการพัฒนาบึงกุ่มให้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และเพื่อเป็นที่ระลึกของขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนแห่งนี้นับว่าเป็นโรงเรียนต้นไม้กลางแจ้งที่มีพรรณไม้หลากหลายชนิดให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษา มีทั้งสวนป่า ลานดอกไม้หอม สวนไม้ผล และปาล์มพันธุ์ต่างๆ บางชนิดเป็นพันธุ์ที่หายากและเพาะยาก เช่น ปาล์มน้ำพุ ตาลฟ้า เป็นต้น 
นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนจำนวนมากอีกด้วย เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00 – 20.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2379 7884


ที่ตั้ง :ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม.
ขนาดพื้นที่ :350 ไร่
เวลาทำการ :05.00 -20.00 น. ทุกวัน
ประเภทของสวน :สวนสาธารณะขนาดกลาง
รถประจำทาง :ถนนเสรีไทย สาย 27, 109, 151, ปอ. 2, ปอ. 19, ปอ.พ. 3
ประวัติความเป็นมา   
 
สวนน้ำกว้างใหญ่แห่งนี้มีที่มาจาก โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจุดประสงค์หลัก ในการเป็นบึงรับน้ำฝนขนาดใหญ่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เพื่อใช้ป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในขณะนั้น ดำเนินการโดยสำนักงานเขตบางกะปิ ณ บริเวณบึงกุ่ม หรือบึงตาทอง ซึ่งเป็นบึงสาธารณะเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่แต่ได้ถูกรุกล้ำจนมีสภาพ ตื้นเขิน จึงได้ปรับปรุงบึงเดิมตามแนวธรรมชาติ
 จนสามารถรองรับน้ำได้ถึง 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ และระบายสู่คลองบึงกุ่มต่อเนื่องสู่คลองแสนแสบต่อไป รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ 90 ไร่รอบบึงด้วย ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530 ได้มอบให้กองสวนสาธารณะเป็นผู้ดูแล จนในปี 2539 ได้มีการพัฒนาขยายพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีก 260 ไร่ 
สร้างเป็นสวนป่า 1 ใน 9 แห่งตามโครงการสวนป่า กทม.เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในชื่อว่า "สวนน้ำบึงกุ่ม" 
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สวนเสรี ไทย "เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขบวนการเสรีไทย ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ และมีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ซึ่งตรง กับวันครบรอบ 52 ปี แห่งวันสันติภาพไทย
ลักษณะเด่นและจุดที่น่าสนใจในสวน   
" สวนน้ำ" คือ ลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนเสรีไทย จากการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้อง กับลักษณะทางกายภาพที่เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ การสร้างทัศนียภาพโดยรวมให้ดูคล้ายแหล่งน้ำ ในธรรมชาติจริงที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ชายน้ำประดับตามขอบบึง และร่มเงาไม้ใหญ่เรียงรายเป็นทิวแถวสร้างความสงบร่มเย็น เหมาะแก่การนั่งชมทิวทัศน์ธรรมชาติริมบึงเหล่านี้เป็นแนวคิดหลัก ที่ผู้ออกแบบสวนสาธารณะ

ต้องการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ เพื่อความพึงพอใจแก่ผู้ใช้สวน พร้อมตกแต่งเพิ่มจุดสนใจในแนวคิดสวนน้ำด้วยมุมน้ำตก ม่านน้ำพุกลางสระสร้างเส้นสายที่เคลื่อนไหว และเสียงธรรมชาติให้เกิดในสวนน้ำจึงดูไม่หยุดนิ่งจนน่าเบื่อเกินไป นำมาซึ่งจินตนาการกว้างไกลแก่ผู้มาพักผ่อนในสวนได้อย่างดี
เกาะกลางน้ำ   บริเวรกลางบึงสร้างเป็นเกาะธรรมชาติ อุดม ด้วยไม้ดอกไม้ประดับอวดสีสันสวยงาม มีศาลาชมวิว ให้แวะพัก คลายร้อน
หออนุสรณ์เสรีไทย   แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับขบวนการ เสรีไทย ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์


PostHeaderIcon พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย


ตั้งอยู่ภายในบริเวณธนาคารไทยพาณิชย์ ถนนรัชดาภิเษก (เอสซีบี ปาร์ค)จัดแสดงวิวัฒนาการของเงินตรานับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการและเปลี่ยนสัตว์เลี้ยงและทาส มาเป็นโลหะวัตถุและเป็นเงินตราในที่สุด และยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของธนาคารในประเทศไทยนับจากธนาคารแห่งแรกของไทยถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 เปิดให้เข้าทุกวันอังคาร-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. โทร. 0 2544 4504, 0 2544 4525, 0 2544 4462-3

หากก้าวเข้าไปในตัวอาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ความรู้สึกที่คงค้างมาจากด้านนอกก็ยิ่งทวีคูณ เพราะเจอกับอินทีเรียดีไซน์สมัยปู่ย่ายังสาว เผลอๆ คอลเลคชั่นอินเทรนด์ ที่เฟ้นเลือกมาสวมใส่มาจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็อาจจะดูแปลกแยก แตกต่างจากสถานที่ทำธุรกรรมเหลือเกิน ด้วยความที่ตัวอาคารเก่าแก่ได้รับการบูรณะขึ้นมาจนเหมือนใหม่ของธนาคารแห่งนี้ คงกลิ่นอายของธนาคารพาณิชย์ในยุคแรกๆ ของสังคมไทยที่ยังสดใหม่ให้เราได้เห็น เหมือนเพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ 



ด้วยทำเลที่ตั้ง อาคารงามกับบรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยา บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ที่เราทุกคนสามารถเข้าไปดื่มด่ำกับความงดงามของศิลปะแบบตะวันตกยุคที่ลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามาบีบคั้น ศิลปะแขนงต่างๆ จึงออกมาในรูปแบบผสมผสานระหว่างความเจริญของโลกตะวันตกและวัฒนธรรมแห่งโลกตะวันออก 


หากพูดถึงประวัติของสาขาธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ ต้องพูดถึงชื่อของ Annibale Rigotti สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ทำหน้าที่ออกแบบอาคารดังกล่าว และยังฝากผลงานระดับแกรนด์เอาไว้อีกมากมาย อย่างน้อยก็พระที่นั่งอนันตสมาคมและตึกไทยคู่ฟ้า ที่ยังยืนยาวมาจนถึงวันนี้ 


ตัวที่ทำการสาขาตลาดน้อย เป็นสถาปัตยกรรมแบบโบซารส์ (Beaux Arts) และมีผู้รับเหมาสัญชาติเยอรมัน ชื่อ ห้างยี.ครูเซอร์ รับหน้าที่คุมงานก่อสร้างทั้งหมด ในปี พ.ศ.2451 ถัดจากนั้น อีก 74 ปีต่อมา อาคารเก่าแก่หลังนี้ก็ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะความสวยเด่นเป็นสง่า 


“ในยุคนั้นเป็นยุคที่การค้าขายยังใช้ทางน้ำเป็นหลัก การตั้งสำนักงานตลาดน้อยที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองของธนาคาร เพราะเป็นย่านธุรกิจและการค้าที่สำคัญในขณะนั้น กิจการของธนาคารเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะสะดวกในการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ จึงมีการเปิดให้บริการด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านเงินฝาก โดยเริ่มเงินฝาก ‘สงวนทรัพย์’ หรือเงินฝากออมทรัพย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย” คุณหญิงชฎา วัฒนศิริ ธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์เล่าย้อนอดีตให้ฟัง 





ถ้าดูจากแปลนเดิม จะเห็นว่าทางเข้าสำนักงานกินความกว้างเพียงไม่กี่เมตร แต่พอพ้นจากส่วนนั้น จะพบกับพื้นที่กว้างขวาง ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อไทยโบราณว่าเป็นพื้นที่แบบ ‘ถุงเงิน’ ทั้งยังคล้องกับแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมที่ผสมความเชื่อของชาวจีนว่า ทางเข้าแคบแต่ปลายบานจะทำให้เงินเข้าง่ายออกยาก 


ครั้นเมื่อก้าวข้ามบันไดทางเข้าหลักเพื่อไปสู่ด้านในของตัวอาคาร นาฬิกาก็เหมือนจะทวนเข็มกลับไปไม่รู้กี่ร้อยพันรอบ เพราะเจอกับการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้และผ้าไหม สถาปัตยกรรมคลาสสิคบนลวดลายหัวเสา รวมทั้งวัสดุเครื่องใช้ในการทำงานต่างๆ ได้แก่ เครื่องตรวจ ลายมือชื่อ เครื่องพิมพ์ดีดโบราณ เครื่องคำนวณ ที่น่าจะเข้าไปอยู่สงบๆ ในพิพิธภัณฑ์มากกว่า หรือพื้นกระเบื้องลายศิลปะแบบอาร์ตนูโว อายุร่วม 100 ปี แบบเดียวกับที่ใช้ในพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี 


หากย้อนถามเศรษฐีเก่าในปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนเจเนอเรชั่นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่จะพบว่าหลายตระกูลไม่ว่าจะเป็นราชนิกูลดั้งเดิมหรือโล้สำเภาเข้ามาสร้างตัวเมืองไทย ต่างก็เริ่มต้นเปิดประตูแห่งความมั่งคั่งที่นี่เป็นจุดแรก และประตูที่ว่าล้วนเกิดขึ้นระหว่างกรอบไม้ระแนงสีทองเหลืองและเคาน์เตอร์ไม้ที่ประกอบกันอย่างประณีตลงตัวแห่งนี้ ซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้าทุกระดับมาตั้งแต่เริ่มสาขา 





เมื่อเลยเข้าไปหลังระแนงทองเหลือง จะเป็นทางลงสู่ ‘ห้องมั่นคง’ (Strong Room) รับหน้าที่เก็บเงินสดและทองคำที่ลูกค้ามาฝากไว้ ซึ่งตู้เซฟทั้งหมด ทำมาจากไม้บีชโบราณ ขณะที่ประตูห้องเป็นระบบล็อก 7 ชั้น ที่หาชมยากและแทบไม่มีแล้วในระบบธนาคารปัจจุบัน แต่ทั้งหมดก็ยังคงใช้งานได้ดี 


ขึ้นไปชั้นบน พื้นที่นี้เคยเป็นส่วนแสดงของพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ ก่อนจะถูกย้ายมาไว้ที่สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธินราว ในปี พ.ศ.2538 


ตัวธนาคารสาขาตลาดน้อย จึงปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นห้องรับรองและพื้นที่เอนกประสงค์โดยเปิดโอกาสให้สาขาหรือลูกค้าเข้ามาใช้จัดงาน นิทรรศการ หรือการประชุม ตามแต่โอกาส และยังมีระเบียงพักผ่อนบนยอดอาคาร หรือจะเปลี่ยนบทให้เป็น ‘ริเวอร์วิว’ บางครั้งบางคราวก็ได้