บริการสืบค้น

Custom Search

PostHeaderIcon สถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด

อยู่ภายในบริเวณกรมประมง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและแคนาดาตั้งแต่ พ.ศ.2521 ภายในเป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ปลาสวยงาม ปลาเศรษฐกิจ ปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์ พรรณไม้น้ำจืดของไทย รวมทั้งศึกษาและวิจัยด้านทางด้านวิชาการ เปิดทุกวันจันทร์ ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น. เสาร์ อาทิตย์ เวลา 10.00 – 14.00 น. ค่าเข้าชม เด็ก นักเรียน นักศึกษา คนละ 5 บาท ผู้ใหญ่ คนละ 10 บาท (หากเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือถึงสถาบันฯ ล่วงหน้า 1 สัปดาห์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0 2562 0600-15 ต่อ 5118 


PostHeaderIcon ศูนย์สปัน อารยวัฒนศิลป์

ตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย ของไทยและนานาชาติ และผลงานด้านศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การแต่งกายของชาวไทยในอดีต จัดแสดงชุดแต่งงานของผู้ที่มีชื่อเสียงในอดีต ภาพนางงามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพมงกุฏกษัตริย์ทั่วโลก จัดแสดงวิวัฒนาการการแต่งกายของโลกตั้งแต่อียิปต์ กรีก โรมัน จนถึงปัจจุบัน การปั้นโดยย่อสัดส่วนได้แก่ การประดิษฐ์กระทง เมืองตุ๊กตา และการจัด ดอกไม้ไทย (ติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม) โทร. 0 2531 2013, 0 2532 2733-4, 0 2993 5888 

PostHeaderIcon หอเกียรติภูมิรถไฟ

ตั้งอยู่ด้านเหนือของสวนจตุจักรใกล้บริเวณลานจอดรถเอนกประสงค์ประตู 2 ถ.กำแพงเพชร 3 เป็นอาคารเก่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 30 ปี มาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บขบวนรถไฟพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และหัวรถจักรประวัติศาสตร์บางคัน ต่อมาได้ถูกปิดไประยะหนึ่ง ภายหลังได้รับการปรับปรุงและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นสถานที่รวบรวมและให้ความรู้เกี่ยวกับการรถไฟ มีการจัดแสดงรถจักรไอน้ำ รถจักรจำลอง ขบวนรถไฟเล็กขนาดต่างๆ ภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับเกียรติภูมิของการรถไฟโลกรวมทั้งสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ อีกมากมาย หอเกียรติภูมิรถไฟเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00-12.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "ชมรมเรารักรถไฟ" คุณจุลศิริ  วิรยศิริ  ผู้อำนวยการหอเกียรติภูมิรถไฟ โทร. 0 1615 5776 


PostHeaderIcon พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดในประเทศไทย ภายในมีปลานานาชนิด จัดให้มีสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 10.00-14.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท หากเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือติดต่อก่อนล่วงหน้า โทร. 0 2579 0562, 0 2579 2151, 0 2579 2619

PostHeaderIcon พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ

อยู่ที่ กม.24 ถนนพหลโยธิน ดอนเมือง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2495 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อรวบรวมยุทธภัณฑ์ทุกประเภทตามยุคสมัยตั้งแต่เริ่มกิจการบินในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ทหาร และอนุชนรุ่นหลังในการศึกษาหาความรู้ มีอากาศยานในอดีตมากมายหลายแบบซึ่งหาดูได้ยาก บางลำได้เคยทำการปกป้องเอกราชอธิปไตยจนนักบินได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญมาแล้ว เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์โดยไม่เสียค่าผ่านประตู ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

PostHeaderIcon อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต เลยสนามบินดอนเมืองไปเล็กน้อย มีเนื้อที่ 38 ไร่ อยู่ในความดูแลของกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ภายในอาคารมีการจัดแสดงจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภาพจำหลักนูนต่ำ แสดงเรื่องการสร้างเมือง และหุ่นจำลองเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การสงครามของไทย เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ ตั้วแต่เวลา 09.00-15.00 น. หากเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อขอวิทยากรได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2532 1021

PostHeaderIcon กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย เริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน เดือนห้า แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้


อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร

บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาวจีน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515